top of page
รูปภาพนักเขียนArphawan SPTMR.

นักวิ่งคนสุดท้าย ที่ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา

อัปเดตเมื่อ 5 ก.พ.

“มีนักวิ่งที่เดินมาเหนื่อยๆ เลย พอผ่านจุดกลับตัวแล้วเจอเราเดินอยู่พร้อมกับไม้เท้า 2 ข้าง ก็ทำให้เขาฮึดไปต่อ” เอ กำพล กิตติพจน์วิไล เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศงานวิ่งที่เคยคุ้นชินกว่า 10 ปี


หากใครที่เคยลงงานวิ่งถนนในกรุงเทพมหานคร ก็มักจะเจอ เอ เดินพร้อมไม้เท้าคู่ใจในงานวิ่งต่างๆ และมักจะเป็นขาประจำงานวิ่ง Run together วิ่งด้วยกัน ที่คนพิการและไม่พิการวิ่งไปด้วยกัน รวมถึงงานวิ่งสร้างเมืองที่จัดโดย คณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะที่เขาจบมา



ย้อนกลับไปราว 15 ปีที่แล้ว เอ ช่างภาพหนุ่มไฟแรง ที่ชีวิตกำลังเจอกับมรสุมลูกใหญ่ เหน็ดเหนื่อยทั้งหัวใจและร่างกาย การตัดสินใจเพียงชั่ววินาที ส่งผลให้ตัวเขา กระดูกส้นเท้าแตก เส้นเลือดหัวใจขาด ปอดฉีก กระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาท ฯลฯ ต้องผ่าตัดหลายครั้ง !!!



หลังจากนั้น…ชีวิตของ เอ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


“ความพิการ” มาพร้อมกับชีวิตที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขายังคงอยู่ในการดูแลของหมอ และนักกายภาพอยู่เสมอ ชีวิตการทำงานหลังจากอุบัติเหตุ คือการจัดเวิร์คช็อปถ่ายภาพแฟชั่นแบบมืออาชีพ


“วันหนึ่งเพื่อนที่เรียนมหาลัยด้วยกันมาชวน ไปลงงานวิ่ง จริงๆ เรียกว่ายัดเยียดดีกว่า เพราะว่าสมัครให้เราเรียบร้อย ในระยะทาง 1 รอบสนามหลวง” เอ เล่าถึงงานวิ่งแรกที่เขาเริ่มออกมาเดิน “กรุงเทพมาราธอน 2013” นั่นคือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว


“ก่อนนั้นเราใช้ชีวิตบนเข็น หรือเดินด้วยไม้เท้า 2 ข้างในระยะทางใกล้ๆ ไม่กี่ร้อยเมตร และไลฟ์สไตล์ก่อนหน้าเราไม่ใช่สปอร์ตแมนอยู่แล้ว เราไม่มีความพร้อมอะไรเลย 6 ปีที่ผ่านมาหลังอุบัติเหตุก็เดินไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งเป็นแค่การเดินเพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้เท่านั้น เลยคุยกับนักกายภาพที่ดูแลเรา และซ้อมอยู่ราวครึ่งปี”

นักกายภาพได้ออกแบบการฝึกซ้อมทั้งการเดินในน้ำ ปั่นจักรยาน ยกเวท ฯลฯ เพื่อเป้าหมายในการเดิน 1 รอบสนามหลวงของเอ และฝึกซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อวันงานมาถึง เขาก็นั่งซ้อนท้ายมอไซด์ของนักกายภาพมุ่งตรงสู่จุดปล่อยตัวที่สนามหลวง


“มาถึงก็คงเดินๆ ไปให้จบตามเป้าหมายแล้วกลับบ้าน” ในหัวเขาคิดแบบนั้นในฐานะที่ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศของงานวิ่งเลยสักครั้ง


“คนเป็นพันเป็นหมื่นคนเลย” เขาตกใจกับภาพที่เห็นตรงหน้า พร้อมกับบรรยากาศงานวิ่งที่คึกคักไปด้วยผู้คน กองเชียร์ ร้านค้าต่างๆ ที่มาร่วมออกบูธงานวิ่ง



“ระยะทางแค่รอบสนามหลวงทำให้เราคิดอะไรหลายๆ อย่างในชีวิต” เอ เริ่มเล่าถึงบรรยากาศ


“เราเป็นช่างภาพอาชีพ มีคนรู้จักมากมาย พอพิการเราก็เสียงาน เสียทุกอย่าง คนรอบข้างก็หาย ตอนที่เราออกจากจุดสตาร์ทคนเป็นพันเป็นหมื่น เราช้ากว่าคนแก่ ช้ากว่าเด็ก คือ เดินไปแล้วไม่เหลือใครเลย ในความเร็วของเขา คือ เราเดินไม่ทัน มันทำให้เราย้อนคิดถึงความรู้สึกในเวลาที่เคยเสียทุกอย่าง นึกถึงตอนเกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ เราทำอะไรไม่ได้เลยและคนเริ่มหายไปจากชีวิตเราทีละคน จนสุดท้ายเราต้องอยู่กับตัวเองคนเดียว” เอ เล่าให้ฟังกับความรู้สึกแรกเริ่มของการเดินวิ่งที่แว๊บเข้ามา


“แต่เมื่อเราเดินไปกับคนที่จุดกลับตัว ตรงนั้นกองเชียร์เพียบ จากโลกที่โล่งๆ ไม่มีใคร ไปเจอคนเยอะๆ เราเดินไปคนก็ให้กำลังใจ คล้ายกับตอนที่เราเริ่มกลับมารักษาตัวเอง กลับมาใช้ชีวิต ได้เจอผู้คนใหม่ๆ”


“หนึ่งรอบของการเดินวิ่งมันเหมือนบอกไทม์ไลน์ชีวิตตัวเอง ช่วงที่เลี้ยวตรงวัดพระแก้วจะเข้าเส้นชัย ก็บอกตัวเองว่า นี่เรากำลังจะทำสำเร็จแล้วนะ ที่ฝึกมาครึ่งปี ตอนนั้นในงานวิ่งมีคำถามว่า Run for a reason วิ่งเพื่ออะไร ก็ได้คำตอบว่า ทั้งหมดในการเดินคือคำตอบ เรามองชีวิตที่ผ่านมาและสุดท้ายเราต้องเดินต่อไป ก้าวต่อไป”

ชัยชนะเล็กๆ ในก้าวแรกกับความทรงจำที่ไม่เคยลืม


นับเป็นชัยชนะก้าวแรกของตัวเขาเอง ที่พาตัวเองมาเดินได้ไกลกว่าทุกๆ ครั้ง และเข้าสู่สนามวิ่ง จากคนที่เคยใช้ชีวิตบนรถเข็น สู่การเดินด้วยไม้เท้าเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และมาลงงานวิ่ง นี่คือมิชชั่นที่เอสามารถทำได้สำเร็จ


“มีพี่คนนึงที่ไม่เจอกันนานเกือบ 10 ปี เขาเห็นว่าเรากำลังจะไปงานวิ่งกรุงเทพมาราธอน พี่เขาวิ่งฟลูมาราธอน และได้เสื้อฟินิเชอร์ ซึ่งเราไม่เคยรู้ความหมายของเสื้อตัวนี้เลย และพี่คนนี้รอที่เส้นชัยพร้อมกับเอาเสื้อให้ เราก็รับมาแบบงงๆ ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ขนบธรรมเนียมอะไรในงานวิ่งเลย ตอนนี้เรายังเก็บเสื้อไว้อยู่ และงานวิ่งครั้งนี้เองคือ จุดเริ่มต้นของทุกอย่างซึ่งเป็นอีกโลกที่เราไม่เคยคิดจะยุ่งเกี่ยว”



นักวิ่งคนสุดท้าย


ปีถัดไปหลังจากงานวิ่งครั้งแรก เอ ก็ตั้งเป้าหมายพาตัวเองไปพิชิตชัยในงานวิ่ง โดยเริ่มจากปีละงาน และหลังจากนั้นไม่นานก็ลงงานวิ่งปีละหลายงานตามความสนใจของตัวเอง ระยะทางเดินวิ่งไกลที่สุด ณ ปัจจุบันคือ 10 กม.


“เมื่อไปงานวิ่งทุกงาน ปล่อยตัวไปสักพัก เราจะเดินอยู่คนเดียวกับความว่างเปล่า และเดินเข้าเส้นชัยเป็นนักวิ่งคนสุดท้ายทุกครั้ง หลังๆ จะเหมือนกับการทำสมาธิอยู่กับตัวเอง งานไหนเจอคนที่จุดกลับตัวจะเป็นความหึกเหิม เขาก็จะให้กำลังใจเรา และเราก็ต่างให้กำลังใจกันและกัน บางคนเดินมาเหนื่อยๆ แล้วมาเจอเราเขาก็วิ่งต่อ มันคือกำลังใจตรงที่ต่อให้เรามีร่างกายแบบนี้ เราก็ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้

Run together การพิชิตระยะทาง 10 กม.


ด้วยเส้นทางและระยะเวลาตัดตัว (cut off time) ในสนามวิ่ง ทำให้เอไม่สามารถลงงานวิ่งทุกอย่างที่ใจอยากลงได้ จึงมีงานเฉพาะที่สามารถลงวิ่งเป็นประจำได้ทุกปี นั่นคือ run together วิ่งด้วยกัน ที่คนพิการวิ่งกับคนไม่พิการ วิ่งไปด้วยกัน ในระยะเวลาที่ไม่จำกัด


“เราลงวิ่งกับเพื่อน 2 คน ในระยะ 8 กม. ซึ่งตอนนั้นไกลกว่าที่เราเคยเดิน ในงานไม่มีใครรู้เลยว่าเราลงแข่ง พอถึงเวลาจริงๆ คนพิการคนอื่นๆ เค้าก็ยังเร็วกว่าเราอยู่ดี กลายเป็นว่าเราเดินตลอดเส้นทางกับเพื่อนเป็นคนสุดท้าย เมื่อระยะไกลกว่าที่เราเคยเดิน ก็เหนื่อยมาก พอผู้จัดรู้ก็รีบวนมาดู เพราะยังมีคนพิการเหลือ 1 คน ที่ยังไม่เข้าเส้น และช่วยกันเชียร์ให้พี่เข้าเส้นชัย ทีมงานวิ่งมารับเรา”


“มีเด็กผู้หญิงตะโกนเชียร์ตลอดเวลา เราก็ไม่รู้จักน้อง มีคนบอกว่าน้องหูหนวก จะพูดเสียงดังๆ หน่อยนะ ตอนนั้นมันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งซึ่งเราไม่เคยเจอที่คนพิการด้วยกันคอยเชียร์ และพอจะเข้าเส้นชัยก็มีทีมงานรอเราอยู่หลังเส้นชัยจริงๆ”


หลังจากนั้นงานวิ่ง run together กลายเป็นชาเลนจ์ประจำทุกปีของเอ ว่าจะทำเวลาให้ดีขึ้นยังไงบ้าง “เป็นงานที่อบอุ่น เวลาที่เราแย่ ก็จะมีคนที่คอยซัพพอร์ตตลอดเวลา เราแทบไม่มีเวลาที่เราอยู่คนเดียวเลย บรรยากาศมันดีมากและได้รับพลังเต็มเปี่ยมจากคนพิการด้วยกัน เราอยู่กันแบบพี่น้อง และพยายามซัพพอร์ตมิชชั่นของเราในทุกๆ ครั้งที่ลงวิ่ง จนเราสามารถวิ่งในระยะ 10 กม.ได้”



อุปกรณ์ช่วยเดินกับชีวิตที่สามารถกลับไปทำในสิ่งที่รักได้


“ก่อนจะมาเจอ Turbomed XTERN เราไม่ชอบอุปกรณ์ AFO (อุปกรณ์เสริมที่คลุมหรือดามผ่านส่วนของเท้าและข้อเท้า) เพราะการที่เป็นแผ่นพลาสติกที่ติดกับเท้าในรองเท้า หมายความว่ารองเท้าสองข้างมันไม่เท่ากัน ต่อมาคือ คนที่มีอาการแบบเราถ้าปล่อยปลายเท้าไปเรื่อยๆ ปลายเท้าจะบวมต่อให้วัดยังไงก็จะเสียดสีกับขอบ AFO ถอดออกมาบางครั้งก็บวม สุดท้ายคือเราไม่เอา ไม่ใช้เลย ก็เดินโดยการลากเท้ามาตลอด ในงานวิ่งเราก็เดินลากเท้าอยู่แบบนั้น”


จนปี 2019 ที่เจอกับ มง มงคล จากคำแนะนำของหมอเมย์ ที่รักษาและดูแลเอ เลยมีโอกาสได้รู้จักกับชุดอุปกรณ์ของ Turbomed XTERN


“ตอนโทรคุยกันเราก็นึกภาพไม่ออก คิดว่าคล้ายๆ แบบเดิม แต่พอได้เห็นแล้วรู้สึก Amazing มาก อุปกรณ์ของ Turbomed XTERN โดยฟังก์ชั่นคือ AFO แต่ด้วยดีไซน์มันเหมือนแก้ปัญหาทุกปัญหาที่เราไม่ใส่

“กลไกมันต่างกับ AFO พลาสติกที่อยู่ในรองเท้า ข้อแรกคือ อุปกรณ์อยู่นอกรองเท้า คือเราสามารถซื้อรองเท้าแบบเดียวกันได้ ไซซ์เดียวกันได้ ต่อมาคือ ไม่ต้องมีเหล็กอะไรมาเกาะเท้าเรา มันจะไม่บวม แค่ 2 ข้อนี้ก็ทำให้เราอยากใช้งานมากๆ แล้ว เราลากเท้ามาตลอดหลายปี เราก็เหนื่อยนะ รองเท้าก็พัง อุปกรณ์มันแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ทำไมเราจะไม่อยากลอง ก็เลยตื่นเต้นมาก”


ช่วงชีวิตก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ เอ เป็นคนรักรองเท้าสนีกเกอร์มาก แต่เมื่อเจออุบัติเหตุทำให้ความชอบของเขาค่อยๆ ถูกวางเอาไว้อยู่แบบนั้น เพราะไม่สามารถใส่รองเท้าทั่วไปได้


“เราชอบสายสนีกเกอร์ แบบชอบมาก เวลาไปทำงานที่ต่างประเทศก็จะซื้อแต่สนีกเกอร์ พอเราพิการก็ซื้ออะไรไม่ได้เลย ทนใช้ไปแบบนั้นจนกว่ารองเท้าหัวจะพัง เรารู้สึกว่าเราจะมีรองเท้าหลายคู่ไปทำไม

แต่พอได้ใช้อุปกรณ์ Turbomed XTERN ทำให้เรารู้สึกว่าจะมีรองเท้ากี่คู่กี่แบบก็ได้ ในแบบที่เราเคยชอบ รู้สึกมีความสุขมาก และมันช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการจริงๆ เวลาที่ใส่ไปลงงานวิ่ง เราก็เดินได้เร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพการเดินที่ดีขึ้น จนสามารถตั้งเป้าหมายในการทำเวลาเดินวิ่งให้ดีขึ้นได้”

 

Authors : Arphawan SPTMR.


อดีตบรรณาธิการเว็บสุขภาพ ที่ยังรักการเขียนแนวสุขภาพ-สุขภาวะ ผู้หลงรักการวิ่งท้ังการวิ่งถนนและเทรล คลั่งไคล้การดูแลสุขภาพเป็นชีวิตจิตใจ เชื่อว่าคนบนโลกนี้พบกันเพราะพรหมลิขิต และชีวิตขาดกาแฟไม่ได้

 

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page